การนำระบบดิจิทัลมาใช้ในการบริการด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รัฐบาลมีนโยบายขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยเศรษฐกิจดิจิทัล โดยให้ความสำคัญกับการจัดทำแอพพลิเคชันของส่วนราชการเพื่อให้ประชาชนดาวน์โหลดผ่านทางอุปกรณ์สื่อสารเคลื่อนที่ (Mobile Devices) ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนประเทศด้วยเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างเป็นรูปธรรมโดยถือความต้องการของประชาชนเป็นที่ตั้ง เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่มีความสะดวก รวดเร็ว ทั่วถึง รวมถึงประชาชนได้รับข้อมูลที่ถูกต้องน่าเชื่อถือและสร้างความโปร่งใสในการทำงานของหน่วยงานภาครัฐ และเพื่อให้สอดคล้องกับ Thailand 4.0” ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์เชิงนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย หรือ โมเดลพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาล ภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่เข้ามาบริหารประเทศบนวิสัยทัศน์ที่ว่า “มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” ที่มีภารกิจสำคัญในการขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศด้านต่าง ๆ เพื่อปรับแก้ จัดระบบ ปรับทิศทาง และสร้างหนทางพัฒนาประเทศให้เจริญ สามารถรับมือกับโอกาสและภัยคุกคามแบบใหม่ ๆที่เปลี่ยนแปลงอย่างเร็วและรุนแรงในศตวรรษที่ 21 ได้

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงได้ดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวโดย ได้มีการปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐเพื่อให้บริการแก่ประชาชน โดยการพัฒนาช่องทางการเข้าถึงข้อมูลและบริการภาครัฐ ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนผู้รับบริการภาครัฐสามารถเข้าถึงบริการได้สะดวก รวดเร็วได้ทุกที่ ทุกเวลาผ่านอุปกรณ์สื่อสารเคลื่อนที่ (Mobile Devices) และพัฒนาระบบการให้บริการด้านข้อมูลข่าวสารทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยการนำเอาระบบดิจิทัลมาใช้ในการบริการประชาชนในด้านต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับ “Thailand 4.0” ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์เชิงนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย หรือ โมเดลพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้พยายามปรับปรุงวิธีการและช่องทางการให้บริการเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและเพิ่มช่องทาง ให้ประชาชนทั่วไปได้มีส่วนร่วมในการดูแลรักษาและปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศ ต่อไป

แผนแม่บทการบริหารจัดการข้อมูลสารสนเทศสิ่งแวดล้อมเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2559 – 2562 และ แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (DEQP Digital Plan)

กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมมีพันธกิจหลักหนึ่ง คือ การพัฒนา ประยุกต์ และให้บริการสารสนเทศสิ่งแวดล้อม โดยผ่านในรูปแบบของข้อมูลสารสนเทศสิ่งแวดล้อมและองค์ความรู้ต่างๆ เพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศ รวมทั้งการพัฒนาระบบจัดเก็บ ระบบแลกเปลี่ยน และระบบเครือข่ายข้อมูลสารสนเทศเพื่อจัดการด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการประยุกต์ใช้ข้อมูลสารสนเทศทางด้านสิ่งแวดล้อมสู่ท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งหากมีการบริหารจัดการให้เป็นสารสนเทศสิ่งแวดล้อมที่ประชาชนได้รับความรู้หรือเข้าถึงข้อมูลสารสนเทศด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จะสามารถกระตุ้นให้เกิดจิตสำนึกจนกระทั่งปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตน อีกทั้งสามารถนำข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมไปใช้ประโยชน์ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นของตนได้

ข้อมูลสารสนเทศด้านสิ่งแวดล้อมมีปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ ตามผลการดำเนินงานของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม จึงจำเป็นต้องมีการสำรวจรวบรวมจัดประเภทและทำการ วิเคราะห์
ต่อยอดข้อมูลเหล่านั้นเพื่อให้เจ้าหน้าที่ของกรมฯ ภาคีเครือข่ายประชาชนผู้สนใจสามารถเข้าถึงและนำข้อมูลสารสนเทศด้านสิ่งแวดล้อมเหล่านั้นไปใช้ประโยชน์ในการดำเนินงานและส่งผลต่อการส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมของประเทศอีกด้วย